เก็ดแดง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dalbergia lanceolaria L.f.

วงศ์ : FABACEAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

            ไม้ต้นผลัดใบ สูง 10-25 ม. ลำต้นและใบคล้ายเก็ดดำ แต่กิ่งแขนงของต้นอ่อนมักไม่ลดรูปเป็นหนามแข็ง เปลือกนอกสีน้ำตาลอมเทา แตกล่อนเป็นแว่นคล้ายเปลือกตะแบก ค่อนข้างเรียบหรือเป็นหลุมตื้น ๆ เปลือกในสีเหลืองขอบสีเขียว ช่อดอกและยอดอ่อนเกือบเกลี้ยงถึงมีขนสั้นนุ่มหลุดร่วงเมื่อแก่ ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ มี (5-)7-9(-13) ใบย่อย เรียงสลับ ก้านช่อใบยาว 2-5 ซม. แกนกลางยาว 5-15 ซม. แกนกลางรวมก้านช่อใบเรียวและมักโค้งลง ใบย่อยมีหลายรูปภายในช่อใบเดียวกัน รูปกลมป้อม รูปไข่ รูปรี รูปไข่กลับถึงรูปขอบขนานปลายป้าน 2-3 x 2.5-5 ซม. โคนมนกลม ขอบเรียบถึงมีขนครุย ปลายมนกลมถึงเว้ากว้าง เส้นใบแบบร่างแหขนนก เส้นแขนง 9-12 คู่ เส้นใบย่อยสานกันเป็นร่างแหหยาบ ๆ มองเห็นชัดทางด้านล่าง ใบแก่บาง สีเขียวหมอง ด้านล่างสีเขียวนวลและมีขนสั้นนุ่มอย่างน้อยตามเส้นใบ ก้านใบย่อย ยาว 0.3-0.5 ซม. ดอกเป็นช่อแบบช่อเชิงลดมีก้านแยกแขนง ออกตามง่ามใบหรือเหนือรอยแผล ยาว 5-10 ซม. ใบประดับและใบย่อยขนาดเล็ก หลุดร่วงเร็ว ดอกย่อยรูปดอกประดู่ สีขาวอมน้ำเงินถึงม่วง ก้านดอกย่อยยาว 0.2 ซม. กลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อน รูประฆัง มี 5 แฉก ยาว 0.5 ซม. แฉกล่างยาวกว่าแฉกอื่นเล็กน้อย กลีบดอกบนคล้ายโล่มนกลม กว้าง 0.6 ซม. โคนคอดเรียวเป็นก้านยาวไล่เลี่ยกับก้านกลีบอื่น ๆ ประมาณ 0.3 ซม. กลีบคู่ข้าง 0.3 x 0.6 ซม. รูปขอบขนานเบี้ยว ปลายทู่ กลีบคู่ล่างเชื่อมประสานกันเป็นรูปเรือ 0.4 x 0.6 ซม. เกสรเพศผู้ 10 อัน โคนเชื่อมติดกันเป็นแผ่นแยกกัน 2 กลุ่ม ๆละ 5 อัน เกสรเพศเมียรังไข่เกือบเกลี้ยง ภายในมีไข่อ่อน 4 เมล็ด ก้านส่งและก้านเกสรรูปดาบมีขนสั้นนุ่ม ยอดเกสรเป็นตุ่มเล็ก ผลแบบฝักแบน รูปกระสวยหรือรูปใบหอก 1.5-2 x 5-10 ซม. โคนสอบเรียว ปลายแหลมและเป็นจงอยสั้น ฝักแก่ไม่แตก สีน้ำตาล ส่วนที่หุ้มเมล็ดแข็ง นูนเด่นคล้ายกระเปาะ เส้นร่างแหเลือนลาง มี 1(2) เมล็ด 0.5-0.8 x 0.5-0.7 ซม. รูปไตหรือไข่กว้าง แบน สีน้ำตาลคล้ำ

ที่มา : โครงการวิจัยนิเวศวิทยาป่าไม้ระยะยาว ต้นไม้ ป่า ห้วยขาแข้ง น. 255 (สรายุทธ บุณยะเวชชีวิน และคณะ, 2559)